Animated Cool Shiny Blue Pointer

บทที่ 3 ระบบบริหารงานคุณภาพ






แนวคิด
มาตรฐาน ISO 9000 ได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากเดิม ซึ่งข้อกำหนดที่ระบุในมาตรฐาน ISO 9001 เป็นข้อกำหนดกว้าง ๆ  ที่สามารภนำมาประยุกต์ได้ในกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยนำมาจัดระบบใหม่เข้ากับมาตรฐานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความขององค์การที่จะแสดงให้เห็นว่าภายใต้การควบคุมที่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับระบบบริหารงานขององค์การที่ มุ่งเน้นกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานการจัดการคุณภาพ การป้องกันการเกิดข้อบกพร่องในกระบวนการผลิต การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

สาระการเรียนรู้
1. ความสำคัญของระบบมาตรฐาน
2. มาตรฐาน ISO 9000
3. ISO 9000 2000
4. การเปลี่ยนแปลงของ ISO 9000
5. แนวทางการปฏิบัติ ISO 9000
6. แนวทางการตรวจติดตามคุณภาพ ISO 9000
7. ประโยชนืของมาตรฐาน ISO 9000

ความสำคัญของระบบมาตรฐาน 
มาตรฐาน ISO 9000 ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิต  ธุรกิจด้านบริการ  รวมไปถึงสถานศึกษาและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ด้วย  อุตสาหกรรมการผลิตและการบริการต่าง ๆ จะคุ้นเคยกับรูปแบบของ “คุณภาพ” จะแตกต่างกันตรงที่ว่า ISO 9000 เป็นเรื่องของ “การประกันคุณภาพ”  ซึ่งเป็นเรื่องของระบบการบริหารคุณภาพขององค์การ  นอกเหนือจากคุณภาพของตัวสินค้าหรือบริการ  มาตรฐาน ISO เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ใช้ได้กับองค์การต่าง ๆ ไม่ได้มีการจำกัดขนาดโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก  มาตรฐาน ISO จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่องค์การผู้ผลิตจำเป็นต้องผ่านการรับรอง  เพื่อเป็น “ใบเบิกทาง”  สู่การค้าตลาดโลกจนบางครั้งมีผู้เข้าใจว่า ISO 9000  คือ  เครื่องมือกีดกันการค้าระดับโลกอย่างหนึ่ง
เมื่อองค์การธุรกิจต่าง ๆ  มีการติดต่อซื้อขายสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นเกณฑ์ในการทำธุรกิจร่วมกันหรือซื้อขายกันก็คือ  มาตรฐาน (Standard) ของสินค้าและบริการ   การที่จะทราบว่าคู่ค้าผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานหรือไม่นั้น  ผู้ซื้อจะต้องเข้าไปตรวจสอบการผลิตว่า  มีประสิทธิภาพหรือไม่และเชื่อถือได้เพียงใด  การตรวจสอบระหว่างคู่ค้า  จึงเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลาด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้

ดังนั้นจึงจะต้องมีฝ่ายที่ 3 ซึ่งเป็นคนกลางทำการตรวจสอบรับรองมาตรฐานระบบคุณภาพของคู่ค้าทั้ง 2 ฝ่าย  โดยอาศัยมาตรฐานกลางที่ยอมรับกันโดยทั่วไป



 รูปที่  3.1  แสดงระบบการรับรองคุณภาพ

             มาตรฐาน ISO 9000 จึงเป็นเรื่องของการตรวจรับรองคุณภาพโดยบุคคลที่ 3 หรือฝ่ายที่ 3 ซึ่งในปัจจุบันจะมีการบังคับให้อุตสาหกรรมบางประเภท  เช่น ของเล่นเด็ก  เครื่องมือสื่อสาร  เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ  ที่จะต้องได้รับการรับรองคุณภาพ ISO 9000  ก่อน  จึงจะส่งสินค้าเข้าไปขายในกลุ่มประเทศตลาดร่วมยุโรป (EU)ได้  และมีแนวโน้มว่ารายการสินค้าที่บังคับจะขยายกว้างออกไปครอบคลุมสินค้าประเภทต่าง ๆ มากขึ้น  ดังนั้นไม่ใช่ว่าธุรกิจส่งออกเท่านั้นที่จะต้องให้ความสนใจต่อการขอใบรับรองมาตรฐาน ISO 9000 ธุรกิจต่าง ๆ ก็ควรให้ความสนใจในมาตรฐาน ISO 9000  ซึ่งจะมีผลเป็นอย่างมากในการดำเนินธุรกิจการผลิตและการบริการ



มาตรฐาน  ISO  9000

     มาตรฐาน ISO 9000   คือ ชุดของมาตรฐาน  ( อนุกรมมาตรฐาน )  ระหว่างประเทศเป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบคุณภาพ  ( Quality   System )  ประเทศไทยได้ประกาศใช้เป็นมาตรฐาน “อนุกรมมาตรฐาน          มอก. 9000”  เป็นมาตรฐานระดับชาติ  เพื่อให้องค์การหรือผู้ส่งมอบ  และลูกค้าหรือผู้ซื้อนำไปใช้  อนุกรมมาตรฐาน มอก. 9000  มีเนื้อหาและรูปแบบเช่นเดียวกันกับอนุกรมาตรฐาน ISO 9000 ขององค์การระหว่างประเทศ   มาตรฐานดังกล่าวจะระบุถึงข้อกำหนดที่จำเป็นต้องมีในระบบคุณภาพ  และใช้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติ  ซึ่งนำไปใช้ได้กับอุตสาหกรรมโดยทั่วไป  มาตรฐาน ISO 9000  เป็นมาตรฐานที่นำเอาสามัญสำนึกมาจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรจัดเป็นระบบ  เพื่อให้นำไปใช้งานในองค์การได้อย่างสะดวก  ซึ่งจะระบุถึงหน้าที่  ขั้นตอนวิธีการปฏิบัติและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการขององค์การนั้นเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการ
อนุกรมมาตรฐาน ISO 9000  จะกล่าวถึงการจัดทำระบบคุณภาพ  รวมทั้งเอกสารและการรักษาระบบนั้นให้มีประสิทธิภาพ  พร้อมทั้งแสดงให้ลูกค้าเห็นได้ว่าองค์การผูกพันและยึดมั่นกับระบบคุณภาพ  ผลิตสินค้าหรือส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ  องค์การผู้ผลิตหรือผู้ส่งมอบ สามารถนำอนุกรมมาตรฐาน ISO  9000  ไปใช้ในการจัดระบบคุณภาพขององค์การ  ขณะที่ลูกค้าขององค์การอาจจะระบุให้องค์การผู้ผลิตต้องมีการควบคุมระบบบริหารงานคุณภาพ  ซึ่งผ่านการรับรองจากหน่วยงาน  โดยที่ลูกค้าและบุคคลทั่วไปอาจใช้ ISO 9000  เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินระบบบริหารงานคุณภาพขององค์การผู้ผลิต  หรือผู้ส่งมอบซึ่งจะสะท้อนถึงความสามารถในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ
ดังนั้น  ประโยชน์ที่องค์การผ่านการประเมินตามอนุกรมมาตรฐาน ISO 9000 จะได้รับอย่างต่อเนื่องก็คือ องค์การได้มีการพัฒนาตรวจสอบคุณภาพ  และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ  ภายใต้การควบคุมกระบวนการต่าง ๆ อย่างมีระบบ  องค์การผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรองแล้วพบว่า  การประเมินจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้จะช่วยให้เกิดการยอมรับจากต่างประเทศ
 “ คุณภาพ ”  ตามมาตรฐาน ISO 9000 จึงหมายถึง  ลักษณะและคุณสมบัติทั้งหมดของผลิตภัณฑ์สินค้าหรือการบริการที่แสดงถึงความสามารถว่าอยู่ในสถานะที่พึงพอใจ  หรือตามความต้องการของลูกค้าที่ได้กำหนดไว้  องค์การที่ได้รับการรับรองตามาตรฐาน ISO 9000 จึงสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าได้ว่า  ผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการขององค์การนั้นได้รับการออกแบบและควบคุมการผลิตอย่างเหมาะสมตรงตามความต้องการของลูกค้า  มาตรฐาน  ISO 9000 จึงเป็น “ ระบบประกันคุณภาพ ”  ขององค์การ


ปัจจัยความสำเร็จการปรับองค์การเข้าสู่มาตรฐาน ISO 9000

ปัจจัยความสำเร็จการปรับองค์การเข้าสู่มาตรฐาน ISO 9000  พอจะสรุปได้ดังนี้
1.  ฝ่ายบริหารและตัวแทนฝ่ายบริหาร 
ฝ่ายบริหารจะต้องแสดงออกทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่จะมีผลกระทบต่อ  “ คุณภาพ ”  ของผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ  โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ ตัวแทนฝ่ายบริหาร ”  (Management  Representative)  ซึ่งมักเรียกกันว่า MR  ส่วนผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง  “ ผู้จัดการคุณภาพ ”  (Quality  Manager)  ที่เรียกกันว่า QMR
               “ ตัวแทนของฝ่ายบริหาร ”  ควรจะต้องได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้บริหารระดับสูงสุดหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง  ตัวแทนฝ่ายบริหารตามข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 9000 จะต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการปรับองค์การเข้าสู่ระบบมาตรฐาน และยังจะต้องรับผิดชอบในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพที่สำคัญ    อีก 2 เรื่อง คือ
1.1 การทำหน้าที่ติดตามดูแลการจัดระบบคุณภาพขององค์การ จนมั่นใจว่าระบบคุณภาพที่สร้างขึ้นนั้นได้มีการนำไปปฏิบัติและสามารถดำรงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 9000ได้
1.2  การทำรายงานผลการปฏิบัติงานให้แก่ผู้บริหารได้ทราบ  เพื่อจะได้มีการทบทวนและใช้เป็นพื้นฐานการปรับปรุงระบบคุณภาพ  และตัวแทนของฝ่ายบริหารยังต้องทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างที่ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ที่จัดทำคู่มือมาตรฐานต่าง ๆ (Documentation)  จากผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เขียนคู่มือเอกสารและติดตามงานจนสำเร็จลุล่วง
2. มีการทบทวนข้อตกลง  (Contract  Review)
วิธีการแก้ไขข้อเรียกร้องจากลูกค้าข้อกำหนดต่าง ๆ ของลูกค้าจะต้องมีความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดี  องค์การมีความสามารถในการผลิตสินค้าก่อนที่จะมีการตอบตกลงกับลูกค้า  หากมีข้อกำหนดใดที่องค์การไม่อาจทำได้หรือไม่มั่นใจ  องค์การจะต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบและมีการทบทวนข้อตกลงกันจนเข้าใจเป็นการป้องกันการตำหนิจากลูกค้า  (Customer  Complaint)  องค์การจะต้องมีวิธีการจัดการหรือวิธีแก้ไขข้อเรียกร้องของลูกค้าให้หมดไป
3. มีความพร้อมในระบบเอกสาร  (Document)
       องค์การจะต้องมีการจัดระบบเอกสารต่าง ๆ ตั้งแต่คู่มือคุณภาพ  (Quality  Manual)  ขั้นตอนการทำงาน  (Procedure)  วิธีการทำงาน  (Work  Instruction)  และแบบฟอร์มต่าง ๆ มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ  วิธีการปรับแก้ไขเอกสารให้ทันสมัยและการอ้างอิง
4. การปฏิบัติตามเอกสารที่ได้จัดทำไปแล้ว
       องค์การจะต้องแสดงให้เห็นว่า ขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน การปฏิบัติงานต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่เขียนไว้
5. การปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง
       เมื่อเกิดข้อบกพร่องหรือมีข้อที่อาจจะนำไปสู่วิธีการผลิตสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน  องค์การจะต้องมีวิธีการแก้ไขปรับปรุง  (Corrective  Action)  อย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถแสดงให้เห็นว่าองค์การมีวิธีการแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ให้ถูกต้องได้  โดยเขียนเป็นวิธีการและเมื่อทำแล้วได้ผลตามที่เขียนไว้
6. การป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องซ้ำบ่อย ๆ
องค์การจะต้องมีวิธีปฏิบัติเชิงป้องกัน  (Preventive  Action)  อย่างเป็นรูปธรรมและมีการแสดงไว้ในเอกสาร  เพื่อมิให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นซึ่งจะทำให้สินค้าหรือบริการด้อยคุณภาพขึ้นอีก
7. การตรวจติดตามและประเมินผลระบบคุณภาพ
องค์การจะต้องจัดทีมงานตรวจติดตามภายใน  (Internal  Audit)  เพื่อประเมินผลงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง  เพื่อประเมินดูว่าวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ยังมีข้อบกพร่องหรือขาดความสอดคล้องตรงตามมาตรฐาน ISO 9000 กำหนดหรือไม่  เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง

ประโยชน์ของมาตรฐาน ISO 9000     
องค์การที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน ISO 9000 นอกจากสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าแล้วยังเป็นการประชาสัมพันธ์ว่า สินค้าหรือบริการขององค์การมีคุณภาพ ISO 9000 ยังเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพในการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การด้วย  เพราะเป็นระบบบริหารจัดการที่เน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข  มีการจัดเก็บข้อมูล  การบันทึกจัดทำเป็นเอกสารแสดงขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ  และมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอระหว่างองค์การคู่ค้าและภายในองค์การเกี่ยวกับกระบวนการผลิต  การควบคุมคุณภาพการผลิต  ซึ่งพนักงานทุกคนจะรู้ถึงหน้าที่และขั้นตอนวิธีการทำงานของตนเองอย่างชัดเจน  ทำให้องค์การสามารถลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน  ทำให้เกิดคุณภาพโดยรวมขององค์การ
มาตรฐาน ISO 9000 เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้องค์การผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ   สามารถก้าวไปสู่  องค์การแห่งคุณภาพ” ได้  ซึ่งในปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง  การเพิ่มผลผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเท่านั้น ที่จะทำให้องค์การดำเนินการอยู่ได้  นอกจากนั้นมาตรฐานสากลต่าง ๆ ได้มีการประกาศใช้มากขึ้น  เช่น ISO 14000 (ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม  EMS :  Environmental  Management  System)  ก็ประกาศออกมาแล้ว  QS 9000  สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และ ISO 18000  ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นต้น 
                                                                                                                 
การที่องค์การธุรกิจอุตสาหกรรมมีการเตรียมความพร้อม  ก็จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่าคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ประโยชน์ของมาตรฐาน ISO 9000 ที่สำคัญ คือ
1. ประโยชน์ต่อองค์การ
1.1  องค์การสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและลดการสูญเสียให้น้อยลง
1.2 สามารถพัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบได้  เนื่องจากระบบตรวจสอบและการเลือกสรร
1.3 การควบคุมกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ  ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา
1.4 องค์การสามารถจัดส่งสินค้าเข้าสู่การแข่งขันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากมาตรฐาน ISO 9000เป็นที่ยอมรับกันอยู่โดยทั่วไป
1.5 สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า  ทำให้ยอดการจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น
1.6 สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
1.7  มาตรฐาน ISO 9000 ช่วยลดการเสี่ยงในการผลิตสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
1.8 สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้ามากขึ้น
2. ประโยชน์ต่อลูกค้า
2.1 ได้รับรู้ในระดับคุณภาพของสินค้าหรือบริการของบริษัท  ซึ่งผ่านการตรวจประเมินจากหน่วยงานอิสระ
2.2 ลูกค้ามีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นจากการแข่งขัน
2.3 ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าหรือบริการ
2.4 ลดการเสี่ยง  เพราะมาตรฐาน ISO 9000 ช่วยผลักภาระความรับผิดชอบให้กับผู้ขาย
2.5ตรวจสอบระบบคุณภาพของผู้ขายได้  ซึ่งจะต้องเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า
3. ประโยชน์ต่อพนักงานลูกจ้าง
3.1 ลดระดับปัญหาและความยุ่งยากในการทำงาน  เนื่องจากการจัดระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 พนักงานเข้าใจในบทบาทหน้าที่และวัตถุประสงค์ขององค์การ
3.3 เข้าใจขั้นตอนวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบจากระบบเอกสารที่มีประสิทธิภาพ
3.4 เพิ่มขวัญและกำลังใจในการทำงานให้แก่พนักงาน
3.5พนักงานเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพจากการยอมรับและระบบเอกสาร


มาตรฐาน ISO 14000        

มาตรฐาน ISO 14000 คือมาตรฐานสากลว่าด้วยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม  (Environmental  Management)  ขององค์การให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด  ทั้งในส่วนของกิจการและภายในองค์การ  กระบวนการผลิตสินค้าและการจัดการเรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมองค์การธุรกิจสามารถจัดทำระบบจัดการสิ่งแวดล้อม  และขอการรับรองได้โดยสมัครใจ  องค์การต้องมีการประกาศนโยบายอย่างชัดเจน  มีการดำเนินงานอย่างจริงจังและเป็นขั้นตอน  โดยมุ่งเน้นให้องค์การมีการพัฒนาปรับปรุง  ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน  (Internationnal  Organization  for  Standardization - ISO)  ได้กำหนดอนุกรมมาตรฐาน ISO 14000 (Environment  Management  Standards)  ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลกนำไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน  ในการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้นำมาประกาศใช้ในประเทศไทย  เรียกว่า  “ อนุกรมมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม มอก. 14000 ”  โดยมีเนื้อหาของมาตรฐานเช่นเดียวกัน


แนวคิดของมาตรฐาน ISO 14000

      การจัดการสิ่งแวดล้อม  เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวความคิดที่ว่า  “ธุรกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจแบบยั่งยืน  (Sustainable  Management)  โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ  (Pollution) มาตรฐานดังกล่าวจึงถูกกำหนดให้เข้ามามีบทบาทการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังในหลาย ๆ ประเทศ

จากมาตรการที่ใช้กันอยู่ภายในประเทศ  ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาเป็นเงื่อนไขกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอีกรูปแบบหนึ่ง  จึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานสากลด้วยว่า  “ การจัดการสิ่งแวดล้อม ”  ซึ่งขณะนี้ได้มีการประกาศใช้ในชื่อ “ มาตรฐาน ISO 14000 ” ทั้งนี้เพื่อจะช่วยนำสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับคืนมา  ขณะเดียวกันก็ช่วยลดหรือช่วยบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นให้เบาบางลง





รูปที่  3.3  แสดงรูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม


            องค์การทุกองค์การไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตหรือบริการ  ย่อมมีกิจกรรมที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น  องค์การผู้ผลิตจะผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งในระหว่างกระบวนการผลิตอาจมีสิ่งที่ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม  หากมีการจัดการที่เหมาะสมก็สามารถควบคุมและลดผลกระทบเหล่านั้นได้  ซึ่งจะเป็นผลดีต่อองค์การและชุมชนโดยรวม

ประโยชน์ของมาตรฐาน ISO 14000  ในแง่ของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต
จิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ผู้บริหารควรให้ความสนใจ  และปรับกลยุทธ์มาใช้ในการบริหารงานด้านการผลิต  การริเริ่มนำการจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ในองค์การย่อมได้เปรียบกว่าคู่แข่ง  องค์การที่จัดระบบมาตรฐาน ISO 14000 จะได้รับประโยชน์ดังนี้

1. ลดต้นทุนในระยะยาว  องค์การที่มีการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบจะนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เนื่องจากมีการจัดการทรัพยากร  และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
2. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์การ  การบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน  รวมทั้งมีการป้องกันในกรณีที่อาจเกิดอุบัติเหตุ
3. เพิ่มโอกาสด้านการค้า  องค์การที่ได้รับความเชื่อถือในด้านความเป็นผู้นำการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  จะเพิ่มขีดความสามรถในการแข่งขัน  นำไปสู่การค้าในตลาดโลก
รูปแบบของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
1.การกำหนดนโยบาย  (Policy)
1.1 ผู้บริหารระดับสูงขององค์การเป็นผู้กำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิต  ผลิตภัณฑ์และการบริการขององค์การ
1.2 แสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนต่อการปรับปรุง  ป้องกันและปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด
1.3 จัดรูปแบบการดำเนินงานสำหรับการกำหนดและการทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
1.4 จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร  เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
1.5 ถ่ายทอดให้พนักงานทุกคนทราบ  และเผยแพร่ต่อสาธารณชน
2. การวางแผน  (Planning)
2.1 ลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม  เพื่อกำหนดจุดเริ่มต้นและกระบวนการที่บ่งชี้ลักษณะปัญหา
2.2 กฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่องค์การได้กำหนดข้อตกลง  รวมทั้งกำหนดวิธีการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นด้วย
2.3 วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่องค์การกำหนด  และสามารถวัดผลได้
2.4 โครงการจัดการสิ่งแวดล้อม  องค์การต้องจัดทำโครงการเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ  ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายการจัดการสิ่งแวดล้อม
3. การนำไปปฏิบัติ
3.1  โครงสร้างและหน้าที่ความรับผิดชอบ  องค์การต้องกำหนดหน้าที่  วิธีการและงบประมาณในการบริหารงาน
3.2 การฝึกอบรม  เพื่อสร้างจิตสำนึกและความสามารถแก่บุคลากรอย่างเหมาะสม   การประชาสัมพันธ์  กำหนดวิธีประชาสัมพันธ์ภายในและหน่วยงานภายนอก
3.3 การจัดทำเอกสาร องค์การต้องจัดทำระบบการเก็บรักษาข้อมูลสำคัญและการอ้างอิงเอกสาร
3.4 การควบคุมเอกสาร
3.5 การควบคุมการดำเนินการ
3.6 การเตรียมพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. การตรวจสอบแก้ไข
4.1 การติดตามและวัดผล  องค์การต้องกำหนดวิธีการดำเนินงาน  เครื่องมือที่ใช้และวิธีประเมินผล
4.2 การแก้ไขข้อผิดพลาด  ควรใช้หลักหาสาเหตุ  กำหนดวิธีแก้ไข  วิธีควบคุม  บันทึกการเปลี่ยนแปลง
4.3 การบันทึกผล  องค์การต้องกำหนดวิธีบันทึกผลการฝึกอบรม  การตรวจติดตามและทบทวน
4.4 การตรวจติดตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม  องค์การจัดทำโครงการติดตามระบบการจัดการตามช่วงเวลาที่กำหนด
5. การทบทวน
5.1 บริหารต้องทบทวนระยะการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นระยะ ๆ  เพื่อให้มั่นใจว่าระบบนั้นทำให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
5.2 กำหนดให้มีการเก็บข้อมูลที่จำเป็นมาประกอบการพิจารณาด้วย
5.3 การทบทวนต้องบันทึกไว้เป็นเอกสาร

5.4 กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและมอบอำนาจการดำเนินการ  เพื่อจัดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม  การปฏิบัติและการรักษาระบบตามที่กำหนดไว้





รูปที่  3.4  แสดง (ตัวอย่างแผนภูมิการรักษาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม


        การรับรองมาตรฐาน ISO 14000 โดยมี  The  Thai  National  Accreditation  Council  (NAC)  ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538  เป็นผู้กำกับดูแลองค์การหรือผู้ประกอบการดำเนินการ  การที่องค์การมุ่งหวังให้ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14000 เพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว  ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลตามจุดหมายของการกำหนดมาตรฐาน ISO 14000 อย่างแท้จริง  ดังนั้นองค์การหรือหน่วยงานการผลิตควรเอาใจใส่  และถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันในการปรับปรุงและปกป้องสิ่งแวดล้อม  เพื่อเป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง

มาตรฐาน ISO 18000
มาตรฐาน ISO 18000 หรือ OH & S  ที่ถูกกำหนดขึ้นมานั้น  จะอาศัยมาตรฐาน BS  8800 :  Occupational  Health  and  Safety  Management  System  ของประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบ  ซึ่งเป็นเพียงมาตรฐานคำแนะนำเท่านั้น  ดังนั้น BS  8800 จึงระบุไว้ว่า  ไม่สมควรนำมาตรฐานนี้ไปใช้เพื่อรับรอง

กระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน  สร้างผลกระทบอย่างมากแก่อุตสาหกรรม  นับตั้งแต่การประกาศมาตรฐานอย่างเป็นทางการ ISO 9000 (Quality  Management  System) และ ISO 18000 (Environmental  Management  System)  ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมแล้วนั้น  อุตสาหกรรมการผลิตต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวความคิดและการทำงาน  เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพอย่างแท้จริง  อุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารการจัดการองค์การ  เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลกที่นับวันจะถูกกำหนดมากยิ่งขึ้น  ซึ่งดูเหมือนว่ามาตรฐานเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่กีดกันทางการค้าก็ตาม




            รูปที่  3.5  แสดงองค์ประกอบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  ตาม                               มอก. 18000



ภาพรวมของมาตรฐาน ISO 18000

มาตรฐาน ISO 18000 มีการกล่าวขานถึงกันอย่างมากในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่า มาตรฐาน ISO 18000 จะเป็นมาตรฐานสากลที่จะประกาศใช้ต่อไปในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการระหว่างประเทศ  โดยคาดการณ์กันว่า ISO 18000 จะเป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยระบบจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  (Occupational  Health  and  Safety  Management  System เรียกสั้น ๆ ว่า OH & S)

ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  มีวัตถุประสงค์หลักคือ  การกำหนดมาตรการป้องกันการบาดเจ็บพิการและโรคภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพ  เพื่อลดความเสี่ยงภัยที่มีต่อพนักงานและผู้เกี่ยวข้องให้เหลือน้อยที่สุด  ปรับปรุงผลงานของอุตสาหกรรมเพื่อการเพิ่มผลผลิต  และเกื้อหนุนให้องค์การสามารถสร้างภาพลักษณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้แพร่กระจายและเป็นที่ยอมรับกันในตลาด

มาตรฐานระบบจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 18000 จะมีข้อกำหนดลักษณะเดียวกันกับ ISO 9000 และ ISO 14000 โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่  บุคคลและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับองค์การการผลิตและการบริการ


หลักการสำคัญของมาตรฐาน OH & S คือ

1. ปฏิบัติตามกฎหมายที่ว่าด้วยอาชีวอนามัยและความปลอดภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง


2. นำระบบการบริหารจัดการเข้ามาใช้  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดลดต้นทุนค้าใช้จ่าย

0 ความคิดเห็น:

ยินดีต้อนรับสู่บทเรียนออนไลน์วิชาการพัฒนางานด้วยระบบคุณภาพและเพิ่มผลผลิต

.