Animated Cool Shiny Blue Pointer

บทที่ 7 การเพิ่มผลผลิตในองค์การ




แนวคิด
การเพิ่มผลผลิตในองค์การที่สำคัญ คือ กระบวนการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มผลผลิต คือ นโยบายของรัฐ ทรัพยากรที่ใช้ รวมทั้งค่านิยมสังคม การเพิ่มผลผลิตที่ดีนั้นองค์การต้องผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการด้วยขั้นตอนและวิธีควบคุมการผลิต การสร้างคุณค่าแลพะความเชื่อถือที่สร้างความพอใจให้กับลูกค้าด้วยคุณภาพที่ดีสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลถึงการเพิ่มผลผลิตโยรวมขององค์การในที่สุด
สาระการเรียนรู้
1. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มผลผลิต 
2. องค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิต
3. ขั้นตอนและวิธีการควบคุมการผลิต
4. ประเภทของการผลิต
5. กระบวนการผลิต
6. การเพิ่มผลผลลิตโดยรวม  
ผลการเรียนรุ้ที่คาดหวัง
1. อธิบายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มผลผลิตได้
2. อธิบายองค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิตได้
3. อธิบายขั้นตอนและวิธีการควบคุมการผลิตได้
4. อธิบายประเภทของการผลิตได้
5. อธิบายกระบวนการผลิตได้
6. อธิบายการเพิ่มผลผลลิตโดยรวมได้  

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มผลผลิต 
สภาพแวดล้อมภายนอก (External  Factor)  เกี่ยวข้องโดยตรงส่งผลกระทบถึงศักยภาพของการบริหารองค์การและความสามารถในการบรรลุเป้าหมายของการผลิต  องค์การต้องประเมินโอกาสและอุปสรรคจากสิ่งแวดล้อมภายนอก  ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการ  สภาพการณ์แข่งขันของธุรกิจ  ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสำเร็จของการเพิ่มผลผลิต  องค์การที่มีการดำเนินงานลักษณะซับซ้อนบางองค์การได้กำหนดแผนกวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มผลผลิต  โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายนอก  ซึ่งผู้บริหารควรให้ความสำคัญในการวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรค  เพื่อการวางแผนในอนาคต  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มผลผลิตที่สำคัญ  ได้แก่
1. นโยบายของรัฐ  (Policies) หมายถึง  แนวทางที่รัฐกำหนดขอบเขตครอบคลุมถึงเป้าหมายของรัฐ  ในการที่จะเร่งรัดพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ความมั่นคง  การจ้างงานบนพื้นฐานแห่งความเป็นธรรม  และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในชาติให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่รัฐได้กำหนด  ดังนั้นรัฐจะต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมและการกระทำอย่างต่อเนื่องในเรื่องต่างๆ  ดังนี้
1.1 การวางแผนโดยรวมการใช้สาธารณูปโภค  ความคงที่ในเรื่องราคาและฐานภาษี
1.2 การส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมเพื่อการทดแทนการนำเข้า
1.3 การเปลี่ยนแปลงแบบแผนความต้องการภายในประเทศ
1.4 ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานการแข่งขันอย่างเสรี
1.5 การสร้างความเจริญก้าวหน้า  จะต้องควบคู่ไปกับการศึกษา  และการรักษา
       สภาพแวดล้อม
2. ทรัพยากรที่ใช้ (Resources) หมายถึง  ทรัพยากรทั้งหลายที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลกระทบต่อการเพิ่มผลผลิตทั้งสิ้น  ได้แก่
2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ
2.2 ทรัพยากรบุคคล  (Human  Resources)  คือ  ความสามารถของกำลังคนในสังคม
2.3 ทรัพยากรทางด้านการเงิน
2.4 เทคโนโลยีทางด้านการผลิต
2.5 การจัดองค์การและการบริหารงานด้านการผลิต

3. ค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรม  จะรวมถึงจริยธรรมในการทำงานและทัศนคติของบุคคล  เช่น  ค่านิยมส่วนบุคคล  (Individual  Values)  และทัศนคติของคนในสังคมที่เรียกว่า  ค่านิยมของสังคม  ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตทั้งสิ้น






องค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิต
การผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นองค์การขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ตาม  กิจการจะเจริญเติบโตได้ก็ต่อเมื่อองค์การสามารถเพิ่มความได้เปรียบในเชิงการค้า  การเพิ่มผลผลิตที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วยคุณภาพสินค้าและบริการ  ที่ลูกค้าพึงพอใจตรงตามความต้อกงต้องการ  การผลิตจะต้องผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำและส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันเวลา  พนักงานต้องมีความปลอดภัยและมีขวัญกำลังใจที่ดีในการทำงาน  การผลิตต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งผู้ประกอบการต้องมีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ  การเพิ่มผลผลิตที่ดีนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ  7  ประการ  คือ  Q  C D  S  M  E  E
Q  :  Quality  คุณภาพ
คุณภาพ  หมายถึง  ข้อกำหนด (Specification)  ของสินค้าที่องค์การหรือบริษัทหรือผู้ขายเป็นผู้กำหนดขึ้น  ปัจจุบันคุณภาพหมายถึง  สิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือพึงพอใจ (Satisfaction)
C  : Cost  ต้นทุน
ต้นทุน  หมายถึง  ค่าใช้จ่าย  ที่จ่ายไปเพื่อดำเนินการผลิตสินค้าหรือบริการ  ต้นทุนจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การวางแผน  การออกแบบผลิตภัณฑ์  กระบวนการผลิต  การทดสอบ  การจัดเก็บ  การขนส่ง  จนกระทั่งสินค้าพร้อมที่จะจัดส่งมอบให้กับลูกค้า
D : Delivery การส่งมอบ
การส่งมอบ  หมายถึง  การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้สามารถผลิตเป็นสินค้าหรือบริการให้ถึงมือลูกค้าตรงตามเวลาที่กำหนด  โดยวิธีการทำให้หน่วยงานผลิต และส่งชิ้นงานไปยังหน่วยงานต่อไปได้โดยไม่ล่าช้า  เพื่อที่จะส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ตามกำหนดเวลาที่ลูกค้าต้องการ
S  :  Safety  ความปลอดภัย
ความปลอดภัย  หมายถึง  สภาวการณ์ที่ปราศจากอุบัติเหตุ  หรือสภาวะที่ปราศจากภัยซึ่งก่อให้เกิดบาดเจ็บหรือสูญเสีย  นอกจากนั้นยังรวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากระบวนการผลิต  และการดำเนินงานให้สูญเสียน้อยที่สุด  เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น
M  :  Morale  ขวัญและกำลังใจในการทำงาน

ขวัญและกำลังใจในการทำงาน  หมายถึง  สภาพทางจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน  ความรู้สึกนึกคิดที่ได้รับอิทธิพลจากแรงกดดันหรือสิ่งเร้าจากปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมในองค์การที่อยู่รอบตัว  และจะมีปฏิกิริยาโต้กลับ  คือ  พฤติกรรมในการทำงานซึ่งมีผลโดยตรงต่อผลงานของบุคคลนั้น




E  :  Environment  สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม  หมายถึง  แรงผลักดันต่างๆ  ที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตขององค์การการผลิตที่ดีจะต้องมีความรับผิดชอบ  ไม่สร้างมลพิษและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากเนื่องจากประเทศต่างๆ  มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อจะแข่งขันได้ในตลาดโลก  ซึ่งการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมส่งผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม
E  :  Ethics  จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ

จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ  หมายถึง  มาตรฐานการปฏิบัติ  หรือการวินิจฉัยของผู้บริหารที่ไม่เบียดเบียนหรือเอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม  ผู้อื่นหมายความถึงตั้งแต่ผู้ขาย  ผู้ถือหุ้น  พนักงาน  คู่แข่งขัน  สังคมและสิ่งแวดล้อม



องค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิต  สามารถจัดแยกออกได้ดังนี้
QCD  เป็นการเพิ่มผลผลิตเพื่อลูกค้า  คือผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามที่ลูกค้ากำหนด  การควบคุมคุณภาพการผลิต  การจัดส่งที่ตรงเวลา  เพื่อความมั่นใจให้กับลูกค้า
SM เป็นการเพิ่มผลผลิตเพื่อประโยชน์ของพนักงาน  คือ  ทำอย่างไรให้พนักงานเกิดความรู้สึกปลอดภัยในขณะทำงานและเกิดขวัญกำลังใจในการผลิต
EE  เป็นการเพิ่มผลผลิตเพื่อสังคม  คือ  ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานจากสิ่งแวดล้อมภายในโรงงาน  แก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เคยมีให้หมดไป  เป็นการเพิ่มผลผลิตโดยรวมของชาติบนพื้นฐานคุณธรรมและความยั่งยืน
ขั้นตอนและวิธีการควบคุมการผลิต

การควบคุมการผลิต (Production  Control) คือ  กิจกรรมกำกับดูแลให้การทำงานเป็นไปตามกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ  ถูกต้องตามแบบผลิตในเวลาอันสั้นและได้ปริมาณมากที่สุด  ผลิตภัณฑ์มีการบกพร่องน้อยที่สุด  กิจกรรมการควบคุมการผลิตเริ่มตั้งแต่ปัจจัยนำเข้ากระบวนการผลิต  จนสำเร็จออกมาเป็นผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ดังแสดงไว้ในแผนภูมิ



การควบคุมการผลิตเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด  เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด  ตรงต่อความต้องการของลูกค้า  สรุปความสำคัญของการควบคุมการผลิตได้ดังนี้
1. เพื่อกำกับให้ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน  โดยคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน  กิจกรรมที่ใช้ในการควบคุมการผลิตนี้จะเกี่ยวกับการศึกษาเวลา  การเคลื่อนไหวการตรวจสอบ  ทำอย่างไรจึงให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
2. เพื่อป้องกันรักษาทรัพย์สินขององค์การ  โดยพิจารณาถึงการป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินขององค์การถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วยเหตุนี้  จึงต้องมีการแบ่งแยกหน้าที่กันรับผิดชอบและมีการจัดระบบการเก็บข้อมูล
3. เพื่อกำกับให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน  องค์การจะต้องทำการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์  ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี  เช่น  การตรวจสอบคุณลักษณะ  การใช้หลักสถิติเพื่อการควบคุมคุณภาพ
4. เพื่อใช้วัดงานต่างๆ  ที่กำลังปฏิบัติอยู่ซึ่งการควบคุม  ได้แก่  ตัวเลขที่แสดงผลการผลิตต่อหน่วยเวลา  การเปรียบเทียบต้นทุนล้วนแต่เป็นเครื่องมือตรวจสอบผลงานที่กำลังปฏิบัติอยู่ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่
5. เพื่อใช้ประกอบในการวางแผนและกำหนดแผนการปฏิบัติงานต่างๆ  ซึ่งได้วางมาตรการควบคุมก่อนเริ่มต้นการทำงานแล้ว
6. เพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถจัดความสมดุลในระหว่างแผนงานกลุ่มต่างๆ  และเพื่อใช้เงินทุนให้เกิดผลกำไรสูงสุด
7. เพื่อกำหนดขอบเขตผู้ปฏิบัติงานต่างๆ  ในการปฏิบัติงาน  วิธีนี้จะเป็นเครื่องมือวัดอย่างหนึ่งในการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามมาตรฐานเพียงใด  ผู้ปฏิบัติงานได้ผลดีย่อมได้ผลตอบแทนเพิ่ม  ซึ่งเป็นมาตรฐานที่องค์การยึดถือปฏิบัติ
ขั้นตอนการควบคุมการผลิต  จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิต  ซึ่งขั้นตอนและวิธีการผลิตจะถูกกำหนดเป็นระยะของการควบคุมการผลิตพอสรุปได้ดังนี้
1. ขั้นบันทึกรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต  กำหนดแผนการผลิต  อาจเสนอเป็นแผนภูมิการกำหนดแผนการผลิตโดยรวม
2. ขั้นวิเคราะห์เปรียบเทียบการผลิตกับแผนงาน  ว่าจำนวนการผลิตมากน้อยเพียงใดกับเวลาการดำเนินงาน
3. ขั้นหาแนวทางแก้ไข  ปรับปรุง  หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตให้ผลผลิตออกมาเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
4. ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้เปรียบเทียบการผลิตครั้งก่อน  ถือว่าเป็นการประเมินผลการผลิต  เพื่อให้เกิดผลดีกับกระบวนการผลิตครั้งต่อไป





ประเภทของการผลิต
อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ  ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการนำเอาวัตถุดิบซึ่งมักจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาผ่านกระบวนการแปรรูป  หรือทำการผลิตโดยใช้แรงงานคนและเครื่องจักแล้วส่งผ่านเพื่อนำไปแปรรูปหรือผลิตในขั้นตอนต่อๆ  ไป  จนได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปขั้นสดสุดท้าย
ประเภทของการผลิต  หมายถึง  การแบ่งประเภทตามลักษณะหรือรูปแบบของกระบวนการผลิตสินค้าที่สำคัญ  ได้แก่
1. การผลิตตามความต้องการของลูกค้าหรือผลิตตามสั่ง (Customer-Built  of  Job  Shop  Process) การผลิตลักษณะนี้ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่ผลิตจะมีจำนวนน้อยและผลิตตามลูกค้าเท่านั้น
2. การผลิตเป็นชุด  หรือผลิตเป็นครั้งคราว (Batch  of  Intermittent  Process) การผลิตเป็นสินค้าที่แตกต่างกันหลายชนิด  ซึ่งแต่ละชนิดจะผลิตจำนวนน้อย
3. การผลิตแบบกระบวนการหรือผลิตแบบต่อเนื่อง (Process  of  Continuos  Process) การผลิตจะเป็นการผลิตสำค้าจำนวนไม่กี่ชนิด  แต่ละชนิดผลิตจำนวนน้อย
4. การผลิตแบบซ้ำๆ (Repetitive  Process) การผลิตแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับการผลิตแบบต่อเนื่อง  แต่การผลิตซ้ำๆ  บ่อยครั้งกว่า
5. การผลิตประเภทที่รัฐควบคุม  เป็นการผลิตที่รัฐควบคุมโดยมีหลักเกณฑ์บังคับเข้มงวด  เช่น  อาหาร  พลังงาน  ยารักษาโรค  อาวุธสงคราม  สินค้าด้านสุขภาพอนามัยและสาธารณูปโภค
คุณลักษณะการผลิตที่เหมือนกัน  ผู้บริหาร  ผู้จัดการ  ส่วนมากแล้วมักจะเชื่อกันว่า  องค์การแต่ละแห่งจะมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากองค์การอื่นๆ  ทำให้แต่ละองค์การต้องมีกิจกรรมพื้นฐานที่แตกต่างกันไป  เช่น วัตถุประสงค์พื้นฐานการวัดผลการทำงาน  ความสัมพันธ์กับลูกค้าและผู้ส่งมอบ  กิจกรรมภายในและระบบต่างๆ  จะถูกนำมาใช้ในการวางแผนและควบคุมกระบวนการได้คล้ายๆ  กัน  การละเลยหรือไม่ข้าใจลักษณะที่เหมือนๆ  กันเช่นนี้  จะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเจริญเติบโตขององค์การ  องค์การจึงต้องให้ความสนใจในความเหมือนกัน  หรือคุณลักษณะร่วมเป็นสำคัญ
วัตถุประสงค์พื้นฐานของการผลิตจะคล้ายคลึงกัน  ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์การใช้บุคลากรที่มีความชำนาญ  และมีความสามารถพิเศษในการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์  เพื่อใช้ทำการผลิตซึ่งทุกอย่างล้วนแต่เข้าสู่กระบวนการแปรรูปวัสดุ  หรือวัตถุดิบที่มีราคาต่ำให้เป็นสินค้า  หรือผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงขึ้น   โดยการเพิ่มคุณค่าในทุกขั้นตอนของการแปรรูปหรือกระบวนการผลิต
กระบวนการผลิต

กระบวนการผลิต (Production  Process) หมายถึง  ขั้นตอนการทำงานด้านการผลิตและการบริการที่แสดงถึง  รายละเอียดลำดับขั้นตอนของการเปลี่ยนสถาน  ปัจจัยนำเข้าให้เป็นผลผลิตองค์การต้องพิจารณาการผลิตให้เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งมอบ  (Suppliers) ผ่านกระบวนการต่างๆ  ของการผลิตทั้งหมด  เรื่อยไปจนสิ้นสุดถึงมือลูกค้า  (Customers)โดยสามารถตรวจสอบคุณภาพ (Inspection) ที่จะทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพอดีสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค


แสดงกระบวนการผลิตสินค้าขององค์การ

การบริหารการผลิตจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  เมื่อขั้นตอนกระบวนการผลิตไหลอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด  และมีระบบที่ง่ายๆ  ไม่ยุ่งยาก  โดยเฉพาะในการผลิตที่ยิ่งมีระบบย่อย  หรือแยกส่วนมากเท่าใด  ก็จะมีปัญหามากขึ้นเท่านั้น





กิจกรรมการผลิตมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก  จะเห็นได้จากการจัดการผลิตภัณฑ์  เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต  แหล่งกำเนิดพลังงาน  การตลาด  ช่องทางการจำหน่ายและการส่งมอบสินค้า  กิจกรรมทั้งหมดนี้จะแตกต่างกัน
เทคโนโลยีที่ซับซ้อน  พนักงานจำเป็นต้องมีทักษะความชำนาญอย่างมาก  การผลิตลักษณะนี้จะผลิตได้อย่างรวดเร็ว  ทันต่อเหตุการณ์  โดยมีการคำนวณปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ  มีลักษณะการทำงานสอดคล้องกัน  การจัดการสินค้าคงคลัง  และการควบคุมการผลิตจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจในสาขาเหล่านั้น  ผู้บริหารการผลิตหรือผู้จัดองค์การจะต้องมอบหมายความรับผิดชอบเกี่ยวกับการผลิตหรือการปฏิบัติงานให้อยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ
ฝ่ายที่สำคัญในองค์การ  ได้แก่  ฝ่ายการตลาด  ฝ่ายวิศวกรรม  และฝ่ายการผลิต  ซึ่งมักจะถูกแบ่งแยกหน้าที่ออกจากกันอย่างชัดเจน  และทำงานกันอย่างอิสระโดยไม่ขึ้นต่อกัน  ปัญหาที่ฝ่ายการตลาดและฝ่ายวิศวกรรมต้องเผชิญ  โดยมากมักจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง  ส่วนฝ่ายการผลิตมักจะสามารถแก้ปัญหาได้เอง  ถ้าองค์การการผลิตขาดความสนใจระบบการผลิตไม่พิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการประสานความร่วมมือกันทั้งสามฝ่าย  ผู้บิบริหารอาจคิดไม่ถึงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละฝ่ายจะเกิดจากฝ่ายอื่นๆ  การแบ่งแยกหน้าที่งานของฝ่ายต่างๆ  ออกจากกันเช่นนี้จะปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปทุกองค์การ  แสดงให้เห็นว่า  องค์การการผลิตเหล่านั้นขาดความเข้าใจในเรื่องของ  “กระบวนการผลิต” และวิธีการเพิ่มผลผลิตอย่างแท้จริง



การเพิ่มผลผลผลิตโดยรวม  
การเพิ่มผลผลิตโดยรวม    ผลรวมของการเพิ่มผลผลิตด้านต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตด้านทรัพยากรบุคคล  ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงขององค์การและของชาติโดยรวม  การเพิ่มผลผลิตโดยรวมมีปัจจัยสำคัญ  2  ประการ  คือ
1. การเพิ่มผลผลิตของทุน (Capital  Productivity)   การเพิ่มผลผลิตของทุน  ส่วนหนึ่งของการวัดเพิ่มผลผลิตคือ  ดูจากจำนวนรายได้ที่ได้รับการลงทุนโดยเปรียบเทียบกับเงินทุนที่ต้องจ่ายไป  อัตราส่วนที่ใช้ในการพิจารณามีดังนี้

การเพิ่มผลผลิต      =       จำนวนเงินที่ได้รับ
       จำนวนเงินทุนที่นำไปลงทุน

การเพิ่มผลผลิตทุนทำได้  2  ลักษณะ  คือ
1.1  เครื่องจักร (Machine) หมายถึง  เครื่องจักรซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการผลิตทั้งระบบอัตโนมัติ  คอมพิวเตอร์  ตลอดจนหุ่นยนต์ในการผลิต
1.2  เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง  การนำวิธีการต่างๆ  มาใช้ในการผลิต  ได้แก่  การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์และการผลิต  รวมทั้งการประยุกต์ใช้วิธีการทางวิศวกรรม
2. การเพิ่มผลผลิตกำลังคน  เป็นการเพิ่มผลผลิตจากการใช้ทรัพยากรบุคคล  ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ  ได้แก่

2.1 การวางแผนกำลังคน (Manpower  Planning) คือ  การวางแผนกำลังคนเพื่อประสิทธิภาพในการผลิตโดยจะกำหนดจำนวนบุคลากร  การใช้ประโยชน์จากบุคลากร  การเพิ่มศักยภาพของคน  หากองค์การมีการวางแผนเรื่องกำลังคนไว้อย่างเหมาะสม  การปรับปรุงการเพิ่มผลิลลิตก็สามารถทำได้ง่าย






2.2 สัมพันธภาพของพนักงานและฝ่ายจัดการ (Labor  Management  Relation) เรื่องที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มผลผลิต  ถึงแม้ว่าองค์การจะมีเครื่องจักรที่ดีและทันสมัยที่สุด  และพนักงานได้รับการอบรมอย่างดีก็ตาม  แต่ก็อาจจะทำงานได้ไม่ดีนัก  ถ้าสัมพันธภาพระหว่างพนักงานกับฝ่ายจัดการไม่ดี
2.3 ทัศนคติในการทำงาน (Work  Attitude) เป็นการหาแนวทางที่จะทำให้พนักงานทุกคนในองค์การมีทัศนคติที่ดีในการทำงานเห็นความสำคัญที่จะปรับปรุงการปฏิบัติงานต่างๆ  ให้ดีอยู่เสมอ  ถ้าหากพนักงานทุกคนมีทัศนคติที่ดีแลชะมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตจะเกิดประโยชน์ต่อองค์การอย่างมาก  ทัศนคติในการทำงานจะเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ  คือ  ความมีระเบียบวินัยการตรงต่อเวลา  การปฏิบัติตามกฎ  และการรักษาความสะอาดเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน  ความตั้งใจที่จะร่วมมือระหว่างพนักงานและการทำงานเป็นทีม

2.4 ระดับทักษะของแรงงาน (Level  of  Skill) ปัจจุบันสภาพแวดล้อมในการผลิตเปลี่ยนแปลงไป   เทคโนโลยีใหม่ๆ  ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงาน  จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้การศึกษาขึ้นพื้นฐานและทักษะที่ยากขึ้น  เพื่อให้พนักงานพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีใหม่ๆ  นำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการให้ดีขึ้น  ดังนั้น  การอบรมทักษะให้พนักงานมีความรู้ในหลายอย่าง (Multiskill-Beside) เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มผลผลิต
2.5 การบริหารการเพิ่มผลผลิต (Productivity  Management) การเพิ่มผลผลิตจะต้องมีการบริหารงานอย่างเป็นระเบียบ  มีกฎมีระเบียบเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  การบริหารกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตในองค์การจำเป็นต้องมีการวางแผน  การจัดรูปแบบวิธีการ  การสื่อสาร  การจูงใจ  เพื่อรวมพลังความสามารถของบุคลากรในองค์การในการพัฒนาปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
2.6 การประกอบการ (Entrepreneurship) ลักษณะของผู้ประกอบการมีความชำนาญสามารถปฏิบัติการสร้างความคิดริเริ่มใหม่ๆ  สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่หรือปรับปรุงธุรกิจในสภาพปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าทั้ง  6  ประการที่กล่าวมานี้  จะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มผลผลิต  การเพิ่มผลผลิตโดยรวม  จึงเป็นผลจากการเพิ่มผลผลิตทางด้านทุน  และทรัพยากรบุคคล  ถ้าการเพิ่มผลผลิตโดยรวมขององค์การดีแล้ว  ก็จะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ  พนักงาน  ผู้บริโภค และของประเทศอีกด้วย


0 ความคิดเห็น:

ยินดีต้อนรับสู่บทเรียนออนไลน์วิชาการพัฒนางานด้วยระบบคุณภาพและเพิ่มผลผลิต

.