Animated Cool Shiny Blue Pointer

บทที่ 10 จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม





แนวคิด

ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate  Social  Responsibility  :  CSR)  เป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่ผู้บริหารนำมาใช้ในการตัดสินใจ  เพื่อดำเนินการบริหารองค์การและการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย  ความรับผิดชอบนี้มิได้บังคับไว้ตามกฎหมาย  ผู้บริหารจะต้องพิจารณาว่า  องค์กรควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร  มากน้อยเพียงใดบนพื้นฐานรายได้และผลตอบแทนอันจะทำให้องค์กรสามารถดำเนินต่อไปได้  ดังนั้น  ผู้บริหารองค์กรควรหาผลตอบแทน  ด้วยการรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ  ปฏิบัติตามกฎหมาย  ดำเนินกิจการที่ถูกต้องชอบธรรม  และหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสังคมควบคู่กับการดำเนินงานขององค์กร
สาระการเรียนรู้
1.  บทนำ
2.  ความรับผิดชอบต่อสังคม
3.  การจัดการด้านจริยธรรม
4.  การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม
5.  ขอบเขตความรับผิดชอบขององค์กร
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1. อธิบายความรับผิดชอบที่องค์กรมีต่อสังคมได้
2. อธิบายการจัดการด้านจริยธรรมขององค์กรได้
3. อธิบายการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรได้
4. อธิบายขอบเขตความรับผิดชอบขององค์กรได้

บทนำ
องค์กรที่ประสบความสำเร็จประการหนึ่งจะดูได้จากผลตอบแทน  ได้แก่  กำไร  ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อความคงอยู่ขององค์กร  เพราะกำไรทำให้องค์กรได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน  ผู้ถือหุ้นมีความมั่นใจ  พนักงานมีความมั่นคงในการทำงาน  ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการและรัฐก็ได้รับภาษี  ซึ่งถ้ามองในทรรศนะนี้แล้วองค์กรจะอยู่ได้ก็เพราะกำไรเป็นผลตอบแทนจากการดำเนินกิจการ  ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคมเพียงพอหรือไม่  ถ้ายังไม่มีความรับผิดชอบควรอยู่ตรงจุดใด  ซึ่งสังคมมีได้กล่าวถึงไว้ถ้าได้กล่าวถึงจริยธรรมทางธุรกิจ  ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม  และมาตรฐานเชิงพฤติกรรมองค์กรใช้และแก้ไขปัญหาด้วยแล้วจะยิ่งหาจุดลงตัวได้ยากยิ่งขึ้น  ถึงแม้ว่าผู้บริหารจะสามารถใช้ดุลพินิจวินิจฉัยได้  แต่ในหลาย ๆ กรณีได้มีข้อถกเถียงว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ถูกต้อง  และสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  ทั้งนี้  เพราะสังคมของเราในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น
กระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีต่อ  จริยธรรม  ความต้องการของสังคมที่มีพฤติกรรมทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไป  และมีการเรียกร้องให้การดำเนินความรับผิดชอบที่กิจการของตนเองมีต่อสังคมให้มากยิ่งขึ้นไม่ว่ากิจการจะใหญ่  หรือเล็กต้องทำการประเมินความรับผิดชอบที่กิจการของตนเองมีต่อสังคมใหม่ทั้งหมด  ดังนั้น  ผู้บริหารที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมอาชีวอนามัย  และผลกระทบมากยิ่งขึ้น  เพราะองค์กรที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันไม่เพียงแต่จะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับกิจการของตนเองเท่านั้น  แต่จะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดต่อสังคมอีกด้วย
 การที่กระแสเรียกร้องของสังคมโลกที่มีต่อจริยธรรมทางธุรกิจ  และความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น  เนื่องมาจากการที่สังคมเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น  และถูกเชื่อมโยงเข้าหากันเป็นสังคมโลกและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างกำจัดถูกทำลาย  ดังนั้น  กลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในแต่ละสังคมต่างได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น  จากความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้กลายเป็นพลังดันให้กิจการต่าง ๆ ต้องพิจารณาถึง  “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”   (Stakeholders)  ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร  และต้องพิจารณาถึงบทบาทและวิธีการที่จะเกี่ยวข้องกับบุคคล  กลุ่มและองค์การดังกล่าว  นอกจากนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังมีส่วนกำหนดระดับความสำเร็จขององค์กร  การเชื่อมโยงระหว่างกิจการและคนในสังคมที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ๆ ในการพิจารณาถึงกรอบของจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

ความรับผิดชอบต่อสังคม
ปัจจุบันนี้กระแสสังคมได้มีการเรียกร้องให้องค์การ  ทั้งด้านการผลิตและบริการต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้นและนี่คือการรับรู้ใหม่เกี่ยวกับบทบาทขององค์การที่ผู้บริหารมิอาจที่จะมองข้าม  ในปัจจุบันเป็นจำนวนมากจากส่วนต่าง ๆ ของโลกต่างเฝ้ามองธุรกิจการดำเนินการขององค์การต่าง ๆ  และคาดหวังว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะประพฤติปฏิบัติตน  เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้า  สิ่งแวดล้อม  และสาธารณชนควบคู่กับการแสวงกำไร  พันธะนี้เรียกว่า  “ความรับผิดชอบต่อสังคม”  (Social  Responsibilities)  จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารองค์การที่จะต้องทำความเข้าใจต่อพันธะทางสังคมและกฎเกณฑ์ทางจริยธรรม
การที่ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์การธุรกิจได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญ  ที่องค์การต้องนำพิจารณานั้น  ทั้งนี้เพราะว่าความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมมีส่วนผลักดันให้ขอบเขตความรับผิดชอบต่อสังคมได้ขยายตัวออกไป  ดังนั้น  องค์การที่จะดำรงอยู่ในสังคม  จึงต้องปกป้องและพัฒนาสังคมควบคู่กันกับการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน  ถ้าองค์การปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วในระยะยาวกิจการนั้น ๆ จะได้รับการปฏิเสธจากสังคม  ดังนั้น  ผู้บริหารจึงต้องใช้ความพยายาม  เพื่อแสวงหาผลกำไรปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้แสดงถึงระดับความรับผิดชอบต่อสังคมแบ่งออกได้  4  ระดับ  ดังนี้                                                    
- ความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ  (Economic Responsibility)
ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี  บุคคลไม่เพียงแต่จะมีสิทธิในการประกอบธุรกิจการเท่านั้น  การที่องค์กรเป็นผู้ผลิตและให้บริการถ้าองค์กรไม่มีผลตอบแทนหรือกำไรที่คุ้มค่าแล้ว  องค์กรก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้  ดังนั้น  พื้นฐานการดำเนินการขององค์กรจึงขึ้นอยู่กับการแสวงหาผลกำไรเท่าที่จะเป็นไปได้  เพื่อสร้างหลักประกันที่สำคัญแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อรักษาสภาวะการแข่งขันและประสิทธิภาพการดำเนินงาน  ตลาดการค้าที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีการดำเนินงาน  ขององค์กรจะต้องเป็นไปตามกลไกของตลาด  โดยที่รัฐเป็นผู้ควบคุมสาธารณูปโภคและสินค้าบางอย่างถ้าเกิดวิกฤตการณ์ที่มีผลต่อความมั่นคง  รัฐอาจใช้วิธีกำหนดนโยบายควบคุมราคาสินค้า  ซึ่งทางองค์กรต้องปฏิบัติตามที่รัฐกำหนด
- ความรับผิดชอบทางกฎหมาย  (Legal Responsibility)
นอกเหนือจากการที่องค์กรดำเนินการแสวงหาผลกำไรแล้ง  องค์กรควรมีความรับผิอชอบที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่องค์การต้องใช้พิจารณาถึงความถูกหรือความผิดที่มีต่อสังคม  กฎเกณฑ์นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามกฎหมายกำหนดการที่กฎหมายต่าง ๆ ไม่สามารถครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินงานได้ทุกด้าน  ดังนั้น  กรณีที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายองค์กรต้องวินิจฉัยว่าอะไรคือความถูกต้อง
โดยทั่วไปกฎเกณฑ์ทางธุรกิจกฎหมายจะควบคุมและให้ความสำคัญ  4  กลุ่มดังนี้
1.  ผู้บริโภค
2.  การแข่งขัน
3.  สิ่งแวดล้อม
4.  ความเท่าเทียมและความปลอดภัย
- ความรับผิดชอบต่อจริยธรรม  (Ethical  Responsibility)
ความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจและกฎหมาย  ถือว่าเป็นพันธะที่องค์กรต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม  เพราะเป็นมาตรฐานความคาดหวังของสังคมที่มีต่อการดำเนินงานขององค์การ  แต่จริยธรรมถือเป็นกฎเกณฑ์ของค่านิยมทางศีลธรรมที่องค์กรใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ  ดังนั้น  ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมจึงเป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่องค์กรใช้ในการตัดสินใจและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า  ผู้ถือหุ้น  พนักงาน  ชุมชนและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน
การจัดการภาคการผลิตและบริการ  องค์การมักจะเผชิญกับปัญหาด้านจริยธรรม  เช่น  การวินิจฉัยปัญหาจริยธรรม  (Ethical Dilemmas)  เนื่องจากความซับซ้อนของปัญหามีมากจนยากต่อการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กร  ตัวอย่างเช่น  การจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนดไว้  แต่สินค้านั้นได้มาตาฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด  หรือการละเมิดจริยธรรม (Ethical lapses)  ซึ่งเป็นปัญหาเมื่อองค์การดำเนินการอย่างขาดจริยธรรมที่มีผลกระทบต่อสังคม
ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมขององค์กรไม่อาจพิสูจน์อย่างชัดเจนต่อผลกำไรก็ตาม  แต่ในระยะยาวแล้วองค์กาใดก็ตามที่ไม่ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว  องค์กรนั้นก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ  ศรัทธาจากลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ
- ความรับผิดชอบอย่างพินิจพิเคราะห์  (Discretionary responsibilities)
เป็นความรับผิดชอบด้วยความสมัครใจของผู้บริหารโดยตรง  ความรับผิดชอบนี้ไม่ได้บังคับไว้ตามกฎหมายจะเห็นได้ว่า  ความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นผู้บริหารจะเลือกทำสิ่งที่ได้ผลประโยชน์ได้กำไรแต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย  ถ้ามีความรับผิดชอบสูงขึ้นไปอีกก็จะเป็นความรับผิดชอบที่คำนึงถึงจริยธรรม  โดยจะเห็นได้จากการที่ผู้บริหารองค์กรให้ความสำคัญหรืออาจเข้าไปมีส่วนรวมในโครงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน  การยกระดับมาตรฐานการดำรงชีพความรับผิดชอบในขั้นนี้องค์การมิได้มุ่งหวังผลตอบแทนที่จะกลับคืนมาสู่องค์การ  แต่เป็นการให้เปล่าซึ่งบางองค์กรใช้คำว่า  การคืนกำไรสู่สังคม  องค์กรที่มิได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม  ที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรนั้นขาดจริยธรรมทางธุรกิจแต่อย่างไร  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารเป็นสำคัญ
การจัดการด้านจริยธรรม
ปัญหาการละเมิดจริยธรรมในองค์กร
การดำเนินธุรกิจใดก็ตามพฤติกรรมการหลอกลวง  ฉ้อฉล  การล้วงความลับทางการค้าและอื่น ๆ ไมได้เกิดแต่เฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น  องค์กรขนาดย่อม  ก็มีปัญหาเหมือนกันจริยธรรมทางธุรกิจเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อน  มีผลต่อความน่าเชื่อถือของกิจการ  การดำรงไว้ซึ่งกิจกรรมของธุรกิจขนาดย่อม  ไม่ใช่สิ่งที่พึงปฏิบัติได้โดยง่าย  โดยเฉพาะในช่วงที่กิจการต้องเผชิญกับการแข่งขันปัญหาทางการเงินจนบางครั้งผู้ประกอบการอาจลืม  เรื่อง  จริยธรรมแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะหน้าไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่เลี่ยงภาษี  การแสดงงบการเงินเท็จเพื่อที่ขอกู้เงินกับสถาบันการเงินและเจ้าหนี้  การบิดเบือนข้อเท็จจริงกับลูกค้า  เป็นต้น
แนวคิดที่ผิดพลาดมากที่สุดขององค์การอีกประการหนึ่ง  คือ  ความเชื่อถือที่ว่า  จริยธรรมและผลกำไรเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน  พฤติกรรมทางจริยธรรมจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริหารแต่ถ้าผู้บริหารพิจารณาถึงผลประโยชน์  ที่องค์การจะได้รับจะพบว่ามีอยู่หลายประการด้วยกัน คือ
1.  องค์การสามารถรักษาความน่าเชื่อถือของกิจการไว้ได้  ขณะที่องค์การที่ขาดจริยธรรมทางธุรกิจโดยปกติจะได้รับผลตอบแทนระยะสั้นเท่านั้น
2.  การมีกรอบจริยธรรมที่มั่นคงจะให้แนวทางแก่ผู้บริหาร  ที่จะเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อน
3.  ผู้บริหารมีแนวทางที่ปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ที่ชัดเจนบนพี้นฐานความเชื่อมั่น
4.  องค์การที่มีจริยธรรมจะได้รับการเอาใจใส่จากลูกค้า

                  เมื่อองค์กรต้องเผชิญกับปัญหาการตัดสินใจเกี่ยวกับจริยธรรมไม่ได้หมายความว่า  ผู้บริหารหรือผู้ประกอบการจะทำการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง  ในความเป็นจริงแล้วการปฏิบัติที่ขาดจริยธรรมส่วนใหญ่เป็นผลจากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น  ตลอดจนค่านิยมทางศีลธรรมของแต่ละบุคคล  สาเหตุการละเมิดจริยธรรมขององค์กรพอสรุปได้ดังนี้
1.  เป้าหมายองค์การ  การละเมิดจริยธรรมอาจเกิดจากการที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นในด้านผลกำไร  การได้เปรียบทางการแข่งขัน  ค่าใช้จ่าย  ฯลฯ  ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวมีผลต่อการตัดสินใจ  ในการดำเนินงานของผู้บริหารจนอาจก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดจริยธรรมขึ้นภายในองค์การได้
2.  เป้าหมายส่วนบุคคล  การตัดสินใจของแต่ละบุคคลมักยึดถือเป้าหมาย  หรือความต้องการของตนเป็นหลัก  จนมีผลต่อการละเมิดจริยธรรมเกิดขึ้น  เช่น  ความต้องการที่จะได้เลื่อนตำแหน่งสายงาน  หรือการได้รับการยอมรับ  เป็นต้น
3.   การแข่งขันมีผลต่อพฤติกรรมส่วนตัว  และขององค์กรเป็นอย่างมากเพื่อความอยู่รอดขององค์กร  สิ่งที่ไม่เคยยอมรับมาก่อนอาจได้รับการยอมรับ  เช่น  การโฆษณาชวนเชื่อและพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ตอบโต้การแข่งขัน  การเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่จนมิได้คำนึงถึงคุณภาพ  เป็นต้น
4.  การฉกฉวยโอกาสที่เอื้ออำนวย  ในสถานการณ์ที่โอกาสทางธุรกิจเอื้ออำนวย  จนก่อให้เกิดการประพฤติการปฏิบัติที่ละเมิดจริยธรรมได้  เช่น  การเร่งการผลิตจนผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานการเพิ่มเวลาการปฏิบัติงานให้กับพนักงาน  เป็นต้น
5. การเลียนแบบกันองค์กรถึงแม้จะรับรู้ถึงความไม่ถูกต้อง  แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นมีการประพฤติปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง  ก็อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กร  เช่น  การหลีกเลี่ยงภาษี  การขาดความรับผิดชอบต่อปัญหามลภาวะ  เป็นตัน
6.  การดำเนินธุรกิจข้ามชาติ  เนื่องจากกฎหมายและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน  การปฏิบัติที่ผิดกฎหมายอีกประเทศหนึ่งอาจได้รับการยอมรับของอีกประเทศหนึ่ง
7.  การขาดความรับผิดชอบ  บุคคลประเภทนี้มักก่อให้เกิดปัญหากับสังคมอยู่เสมอ  ไม่ว่าจะเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย  การไม่คำนึงถึงความถูกต้อง  ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างมาก
ปัญหาจริยธรรมขององค์การเป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้  โดยอาศัยกระบวนการทางจริยธรรมเพื่อกำหนดกรอบทางจริยธรรม  หลักความเชื่อ  จรรยาบรรณ  การตรวจสอบและการควบคุม

การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม
แม้ว่าจะไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมทางจริยธรรม  แต่ในทางปฏิบัติองค์กรควรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น  เพื่อให้บุคลากรใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน  ถึงแม้ว่ามาตรฐานที่กำหนดขึ้นนี้จะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทางจริยธรรมที่เป็นสากลก็ตาม  แต่ถือเป็นวิธีการที่ช่วยให้บุคลากรสามารถตัดสินใจกับปัญหาทางจริยธรรมได้อย่างเหมาะสม  และเข้าใจผลกระทบจากการปฏิบัติก่อนที่จะทำการตัดสินใจ
ขั้นตอนการจัดการกับพฤติกรรมทางจริยธรรม
การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมถือเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งขององค์กร  แต่การรักษามาตรฐานทางจริยธรรมนั้นถือเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการจัดการอย่างแท้จริง  การปลูกฝังพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่เราสามารถจัดการได้  องค์กรสามารถดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.  การกำหนดกรอบทางจริยธรรมและสร้างหลักความเชื่อถือขององค์กร  ซึ่งจะต้องพัฒนากรอบทางจริยธรรมให้ชัดเจน  เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติได้ในแต่ละประเด็น  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานขององค์กร  การกำหนดกรอบทางจริยธรรมนั้นมีกระบวนการที่สำคัญ 4  ขั้นตอน  คือ
1.1  การรับรู้ทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ  ก่อนที่องค์การจะทำการตัดสินใจปัญหาใดทางจริยธรรมได้อย่างเหมาะสม  ควรต้องรู้สึกสถานการณ์ที่เป็นอยู่  องค์กรจะต้องกำหนดประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้เพราะองค์กรต่าง ๆ  ส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจอย่างเพียงพอ  ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวองค์กรต้องพิจารณา  ถึงปัญหาทางจริยธรรม  ในแต่ละประเด็นไม่ว่าจะเป็นในด้านความซื่อสัตย์  ความรับผิดชอบต่อลูกค้า  ความยุติธรรม  ความเอาใจใสต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม  และอื่น ๆ
1.2  การกำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  เนื่องจากความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรมักจะขัดแย้งกัน  เช่น  พนักงานต้องการให้องค์กรปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด  ลูกค้าต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมผู้ถือหุ้นต้องการผลตอบแทนระดับสูง  ชุมชนต้องการให้องค์การมีความเอาใจใส่ต่อสังคม  เป็นต้น
องค์กรจึงต้องรักษาดุลยภาพของเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน  และเลือกว่าจะสร้างความพอใจให้กับกลุ่มใดและในระดับใดก่อนตัดสินใจ  ผู้บริหารต้องพิจารณาผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่ากลุ่มใดมีความสำคัญในสถานการณ์นั้น ๆ
1.3   การสร้างทางเลือกในทางปฏิบัติโดยองค์การต้องพิจารณาถึงทางเลือกที่เป็นไปได้  และผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละทางเลือกว่ามีต่อกลุ่มใดบ้างและในระดับใด  จำแนกผลดีผลเสียในแต่ละทางเลือก
1.4   กำหนดทางเลือกที่ดีที่สุดและปฏิบัติ  ซึ่งองค์การควรคำนึงถึงความสอดคล้องกับเป้าหมายค่านิยมและวัฒนธรรมองค์การ  การตัดสินใจทางจริยธรรมจึงไม่ใช่ภาระงานที่ง่าย  ดังนั้นกรอบทางจริยธรรมที่องค์กรกำหนดขึ้นนี้ จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ
กลุ่มต่าง ๆ
2.  การกำหนดหลักจรรยาบรรณ  จรรยาบรรณ  (Ethical)  คือ ข้อความที่บ่งบอกถึงมาตรฐานเชิงพฤติกรรมอะไรบ้างที่คาดหวังใช้เป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรม  ในการปฏิบัติและหลักทางจริยธรรมที่องค์กรคาดหวังว่าจะได้รับจากบุคลากร  แม้จรรยาบรรณจะไม่ให้หลักประกันเกี่ยวกับพฤติกรรมทางจริยธรรมก็ตาม  แต่จรรยาบรรณได้สร้างมาตรฐานเชิงพฤติกรรมให้กับองค์กร  การจัดการด้านจริยธรรมโดยทั่วไปเกิดจากความต้องการของผู้บริหาร  ไม่ว่าจะเป็นหลักความเชื่อและจรรยาบรรณ  ดังนั้น  การสร้างแบบอย่างทางจริยธรรมที่ดีผู้บริหารจะต้องเน้นที่การประพฤติตัวเป็นแบบอย่างมากกว่าการที่จะใช้การพูดหรือการกำหนดแต่นโยบาย
3.  การประกาศใช้หลักจรรยาบรรณ  องค์กรจะต้องดำเนินการเมื่อพบว่ามีการกระทำที่ละเมิดหลักจรรยาบรรณ  ถ้าบุคลากรภายในองค์กรเรียนรู้ว่า  ไม่ได้รับการลงโทษเมื่อมีการละเมิดจรรยาบรรณ  จรรยาบรรณที่สร้างขึ้นมาจะไม่มีความหมาย  การที่องค์กรกำหนดจรรยาบรรณเป็นสิ่งที่ง่าย  แต่การที่จะคงไว้นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก  ถ้าต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
4.  การฝึกอบรมการประพฤติปฏิบัติจริยธรรม  การปลูกฝังจริยธรรมเพื่อสร้างเป็นวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่องค์กรต้องดำเนินต่อจากการสร้างจรรยาบรรณและการประกาศใช้  องค์กรจะต้องแสดงให้บุคลากรเห็นว่าองค์กรได้ตกลงใจ  ที่จะปฏิบัติตามหลักจริยธรรมที่องค์กรกำหนดอย่างมั่งคง  ซึ่งวิธีกรที่มีประสิทธิผลมากที่สุด  คือ  การฝึกอบรม  เพื่อปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้องให้กับ
          5.  การเลือกบุคลากรที่เหมาะสม  จริยธรรมส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพื้นฐานของแต่ละบุคคล  ดังนั้น  การเลือกบุคคลที่มีหลักการและค่านิยมทางศีลธรรมที่ดีจะให้หลักประกันเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดจริยธรรม  เพราะการตัดสินใจทางจริยธรรมบุคลากรจะต้องมี  ข้อผูกพันต่อจริยธรรมเพื่อให้แก้ไขปัญหาและทำในสิ่งที่ถูกต้องในสถานการณ์ต่าง ๆ
6.  การตรวจสอบจริยธรรม  เป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการประเมินประสิทธิผลของระบบจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ระบุว่าสิ่งใดดีถูกต้อง  และสิ่งใดไม่ได้ไม่ถูกต้อง  โดยองค์กรตั้งคณะกรรมการจริยธรรม  เพื่อทำการตรวจสอบติดตามผลและทบทวนความเข้าใจในทางปฏิบัติเกี่ยวกับจริยธรรม  ตลอดจนการกำหนดหลักเกณฑ์  เพื่อแก้ไขปัญหาด้านจริยธรรม
ขอบเขตความรับผิดชอบขององค์กร
ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย
ความรับผิดชอบขององค์กร  เป็นสิ่งที่องค์การมีเงื่อนไขที่กระทำต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากการบรรลุเป้าหมายขององค์กร  ขอบเขตความรับผิดชอบดังกล่าว  เป็นเรื่องที่องค์กรจะต้องคุ้มครองหรือให้ผลประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1.  ความรับผิดชอบขององค์การต่อผู้ลงทุน
                         องค์การต้องตอบสนองต่อผู้ลงทุนด้วยอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่เป็นธรรม  แต่การประกอบ
ธุรกิจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำพาองค์การไปสู่ความสำเร็จได้  ผู้บริหารยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการจัดการทางจริยธรรม  และความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นวิถีทางที่จะทำให้องค์การมีผลกำไรในระยะยาว  องค์การจึงไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างการปฏิบัติทางจริยธรรมและผลกำไรขององค์การ  การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมจึงเป็นวิธีการนำไปสู่ผลกำไรอย่างแท้จริง  องค์การจะมีความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่ง  ทั้งนี้เพราะการรักษามาตรฐานทางจริยธรรม  ทำให้ลดปัญหาด้านแรงงานและยังช่วยในการเพิ่มผลผลิต
2.  ความรับผิดชอบขององค์การต่อบุคลากร
องค์การจะเพิ่มผลผลิตได้โดยต้องอาศัยบุคลากรหรือพนักงาน  ในการดำเนินงานขององค์การ
ซึ่งถ้าองค์การตระหนักในข้อเท็จจริง  และให้ความสำคัญการดึงบุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  การรับฟังความคิดเห็นข้อเท็จจริง  ความคาดหวังขององค์การ  การให้รางวัลกับบุคลากรที่ปฏิบัติงานดีเด่น  ตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่ดีและการทำงานเป็นทีม  คำกล่าวที่ว่า  “พนักงานถือเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า” จึงเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องเสมอ
3.  ความรับผิดชอบขององค์การต่อลูกค้า
การสร้างและการรักษาความภักดีของลูกค้า  ที่มีต่อองค์การไม่ใช่งานที่ง่ายนักเพราะยังมีสิ่งต่าง ๆ  เกี่ยวข้องมากกว่าการขายสินค้าและการบริการ                           การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับกรอบความรับผิดชอบต่อลูกค้าที่จะได้รับรู้สิทธิของตน  อันได้แก่
3.1  ความปลอดภัย  เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกค้าองค์กรต้องจัดหาสินค้าและบริการที่มีความปลอดภัย  ความเชื่อถือขององค์การจะหมดไปเมื่อองค์การผลิตผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกค้า
3.2  การรับรู้ลูกค้ามีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการ  ซึ่งถือเป็นส่วนควบผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่ามากที่สุด  การแสดงความรับผิดชอบขององค์กรต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแต่ลูกค้า  ไม่ว่าจะเป็นราคา  คุณภาพ  ขนาด  รูปร่างและคุณสมบัติอี่น   
3.3  การบอกกล่าว  เป็นสิทธิของผู้เป็นลูกค้าที่จะแนะนำช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กรและลูกค้า  องค์กรต้องมีความรับผิดชอบที่จะสร้างกลไก  เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสินค้าและบริการจากลูกค้า
3.4  การศึกษา  ความรับผิดชอบขององค์กรที่ให้ลูกค้าเข้าสู่โปรแกรมการศึกษาเป้าหมาย  คือ  ให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ  เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ  ตลอดจนวิธีการใช้ที่เหมาะสม
3.5  การเลือก  เป็นสิทธิของลูกค้าที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาด  องค์การจะต้องไม่สร้างข้อกำจัดในการแข่งขัน
1.3.2  ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ลูกค้าในยุคปัจจุบันจำนวนมาก ได้นำความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไป  เป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์การซื้อ  นอกเหนือจากราคา  คุณภาพ  การบริการและอื่น ๆ จากการศึกษาผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อ  พอใจที่จะจ่ายค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี  ดังนั้น  องค์การถึงแม้ว่าจะเป็นขนาดย่อมก็ควรที่จะแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม  เช่น  การปรับปรุงเครื่องจักรใหม่เพื่อลดมลพิษทางน้ำและอากาศ  การักษาระบบนิเวศและ    อื่น ๆ อย่างไรก็ตามความสามารถขององค์กรในการผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับลูกค้า  การควบคุมมลพิษจึงเป็นภาระงานที่หนัก  สำหรับองค์กรการขนาดย่อมเนื่องจากองค์กรอาจมีเครื่องจักรที่ล้าสมัย  และมีเงินทุนอยู่อย่างจำกัด

องค์กรจะต้องเรียนรู้ถึงต้นทุนการดำเนินงาน  เพื่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม  และยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน  สิ่งสำคัญที่องค์กรจะต้องปฏิบัติ  คือ 
1.  ลด  (Reduce)  ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด  โดยลดจำนวนวัตถุดิบ/วัสดุ  ที่จะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
2. ใช้ใหม่  (Reuse)  เท่าที่สามารถทำได้  โดยส่วนที่เสียหายจากการผลิตนำมาเป็นวัตถุดิบของอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง
3.  แปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่  (Recycle)  โดยการใช้วัตถุดิบ/วัสดุที่ถูกกำจัดทิ้งไปและนำมาสร้าง  หรือผลิตเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใหม่
ที่สำคัญที่สุดองค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชน  โดยอาจจัดหางานสร้างความมั่งคั่งหรือสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในวิถีทางต่าง ๆ องค์การที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องรู้ถึงหน้าที่ที่จะให้กับชุมชนในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ องค์กรที่ให้การสนับสนุนชุมชนมักมีผลประกอบการที่ดีกว่าองค์กรที่ละเลยต่อความรับผิดชอบ



0 ความคิดเห็น:

ยินดีต้อนรับสู่บทเรียนออนไลน์วิชาการพัฒนางานด้วยระบบคุณภาพและเพิ่มผลผลิต

.